1.กรุ๊ปเลือดที่สามารถรับหรือให้ได้


ความสำคัญของการทราบกรุ๊ปเลือด

  • ใช้เป็นหลักในการพิจารณาหาเลือดที่เหมาะสมและเข้ากันได้กับผู้ป่วยที่ต้องได้รับเลือดเพื่อการรักษาภาวะผิดปกติของร่างกาย เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงจากการรับเลือด กล่าวคือ เมื่อเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุฉุกเฉินจะทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยต้องเข้ารับการเปลี่ยนถ่ายเลือด (ไม่ว่าจะเป็นในระหว่างการผ่าตัดหรือการเข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะ) ซึ่งหากผู้ป่วยไม่ทราบกรุ๊ปเลือดของตัวเองหรือแจ้งกรุ๊ปเลือดผิดก็อาจส่งผลอันตรายต่อผู้ป่วยได้ (เช่น ผู้ป่วยมีเลือดกรุ๊ปบี แต่ได้รับเลือดกรุ๊ปเอ แอนติบอดีชนิดเอที่อยู่ในน้ำเลือดของผู้ให้จะไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดที่มีแอนติเจนชนิดเอของผู้รับ)
  • กรุ๊ปเลือดมีความสำคัญต่อหญิงตั้งครรภ์หรือผู้วางแผนจะตั้งครรภ์ เพราะแพทย์จะได้พร้อมรับมือกับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ได้ เพราะหากแม่มีกรุ๊ปเลือดอาร์เอชลบ แต่พ่อมีกรุ๊ปเลือดอาร์เอชบวก ทารกอาจมีแนวโน้มที่จะมีกรุ๊ปเลือดชนิดอาร์เอชบวกและมีโอกาสเสียชีวิตในครรภ์ได้ ทำให้แม่ต้องรับยา Rh immunoglobulin (RhoGAM) เพื่อป้องกันไม่ให้แม่สร้างแอนติบอดีที่ไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดของทารกในกรณีที่เลือดของแม่และเด็กเกิดการผสมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์
  • ทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ กรุ๊ปเลือดถูกนำมาใช้เพื่อระบุความเกี่ยวข้องกันทางพันธุกรรมถึงความเป็นพ่อแม่ลูกกันและใช้ศึกษาการสืบเชื้อสายของเหล่าพันธุ์ได้ อีกทั้งยังใช้ในการช่วยระบุตัวคนร้ายในกรณีที่เกิดเหตุอาชญากรรมได้ด้วย
  • ชนิดของกรุ๊ปเลือด

    ในปัจจุบันมีระบบกรุ๊ปเลือดอยู่ 32 ระบบ แต่ระบบที่มีความสำคัญจะมีอยู่ 2 ระบบใหญ่ ๆ ได้แก่
    1. กรุ๊ปเลือดระบบเอบีโอ (ABO system หรือ ABO blood group system) เป็นระบบที่นิยมใช้กันมากและสำคัญที่สุด โดยจะกำหนดกรุ๊ปเลือดได้จากการตรวจหาชนิดของแอนติเจน (สารก่อภูมิต้านทาน) และแอนติบอดี (สารภูมิต้านทาน) จากเลือด ซึ่งจะแบ่งกรุ๊ปเลือดออกเป็น 4 กรุ๊ป คือ
      • กรุ๊ปเลือด A คือ กรุ๊ปเลือดที่มีแอนติเจนชนิดเอ (A Antigens) ที่เซลล์เม็ดเลือดแดง และมีสารแอนติบอดีชนิดแอนติ-บี (Anti-B) ในพลาสมา ในคนไทยพบกรุ๊ปเลือดนี้ประมาณ 22%
      • กรุ๊ปเลือด B คือ กรุ๊ปเลือดที่มีแอนติเจนชนิดบี (B Antigens) ที่เซลล์เม็ดเลือดแดง และมีสารแอนติบอดีชนิดแอนติ-เอ (Anti-A) ในพลาสมา ในคนไทยพบกรุ๊ปเลือดนี้ประมาณ 33%
      • กรุ๊ปเลือด O คือ กรุ๊ปเลือดที่ไม่มีแอนติเจนที่เซลล์เม็ดเลือดแดง แต่มีแอนติบอดีทั้งชนิดแอนติ-เอ (Anti-A) และชนิดแอนติ-บี (Anti-B) ในพลาสมา ในคนไทยพบกรุ๊ปเลือดนี้ได้มากที่สุดประมาณ 22%
      • กรุ๊ปเลือด AB คือ กรุ๊ปเลือดที่มีแอนติเจนทั้งชนิดเอ (A Antigens) และชนิดบี (B Antigens) ที่เซลล์เม็ดเลือดแดง แต่ไม่มีแอนติบอดีชนิดแอนติ-เอ (Anti-A) และชนิดแอนติ-บี (Anti-B) ในพลาสมา ในคนไทยพบกรุ๊ปเลือดนี้ได้น้อยที่สุดประมาณ 8%
    2. กรุ๊ปเลือดระบบอาร์เอช หรือรีซัส (Rh system หรือ Rh (Rhesus) blood group system) เป็นระบบกรุ๊ปเลือดสำคัญรองจากระบบเอบีโอ ซึ่งประกอบไปด้วยแอนติเจนที่มีความสำคัญทางคลินิก 5 ชนิด คือ แอนติเจนดีใหญ่ (D), แอนติเจนซีใหญ่ (C), แอนติเจนอีใหญ่ (E), แอนติเจนซีเล็ก (c), แอนติเจนอีเล็ก (e) และแอนติเจนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแต่ไม่ค่อยมีความสำคัญทางคลินิกอีก 46 ชนิด แต่แอนติเจนตัวสำคัญที่เป็นตัวบ่งบอกชนิดของกรุ๊ปเลือดระบบอาร์เอชคือ แอนติเจนชนิดดีใหญ่ (D) ซึ่งจะแบ่งออกได้เป็น 2 กรุ๊ป (เมื่อเอ่ยถึงอาร์เอชบวกหรืออาร์เอชลบนั้นจะหมายถึงเฉพาะแอนติเจนชนิดดีใหญ่) คือ
      • กรุ๊ปเลือดอาร์เอชบวก (Rh+ หรือ Rh Positive) ผู้ที่มีกรุ๊ปเลือดดังกล่าวจะมีแอนติเจน-ดีใหญ่ (Antigen-D) อยู่ที่ผิวของเซลล์เม็ดเลือดแดง สามารถรับเลือดได้ทั้งชนิดอาร์เอชบวก (Rh+) และอาร์เอชลบ (Rh-) ซึ่งในคนไทยส่วนใหญ่จะมีกรุ๊ปเลือดอาร์เอช (D) บวกนี้ประมาณ 99.7%
      • กรุ๊ปเลือดอาร์เอชลบ (Rh- หรือ Rh Negative) ผู้ที่มีกรุ๊ปเลือดนี้จะไม่มีแอนติเจน-ดีใหญ่ (Antigen-D) อยู่ที่ผิวของเซลล์เม็ดเลือดแดง สามารถรับเลือดได้แค่เพียงชนิดอาร์เอชลบ (Rh-) เท่านั้น และในคนไทยพบผู้ที่มีเลือดนี้เพียง 0.3% ซึ่งเราเรียกว่าเป็น “กรุ๊ปเลือดหายาก” หรือ “กรุ๊ปเลือดพิเศษ
    ดังนั้น กรุ๊ปเลือดระบบอาร์เอชจึงแบ่งการกรุ๊ปเลือดออกเป็น 8 กรุ๊ป ดังนี้
    1. กรุ๊ปเลือดเอ อาร์เอชบวก (A+)
    2. กรุ๊ปเลือดเอ อาร์เอชลบ (A-)
    3. กรุ๊ปเลือดบี อาร์เอชบวก (B+)
    4. กรุ๊ปเลือดบี อาร์เอชลบ (B-)
    5. กรุ๊ปเลือดโอ อาร์เอชบวก (O+)
    6. กรุ๊ปเลือดโอ อาร์เอชลบ (O-) เป็นกรุ๊ปเลือดที่ปลอดภัยสำหรับคนทุกกรุ๊ปเลือด เพราะเข้ากันได้กับทุกกรุ๊ปเลือด จึงมักถูกนำไปใช้ในกรณีฉุกเฉินเมื่อแพทย์ไม่ทราบกรุ๊ปเลือดของผู้ป่วย
    7. กรุ๊ปเลือดเอบี อาร์เอชบวก (AB+)
    8. กรุ๊ปเลือดเอบี อาร์เอชลบ (AB-)
    หมู่เลือด

ความคิดเห็น